ประวัติความเป็นมา และรายนามหัวหน้าสถานี

          เมื่อพุทธศักราช 2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ข้าหลวงกองสักออกไปสักเลขทางหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการเมืองร้อยเอ็ดได้นำตัวเลขไปสัก ปรากฏว่ามีจำนวนมากถึง 13,000 คนเศษ พระขัติยะวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงคิดว่า พลเมืองของเมืองร้อยเอ็ดมีจำนวนมากอีกทั้งท้าวกวดมีความชอบในราชการมากมาย ทั้งซื่อสัตย์ มีสติปัญญาที่ดี สมควรได้แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ เป็นเจ้าเมือง ท้าวจันทร์จึงถกกันกับกรมการเมืองร้อยเอ็ด ผลปรากฏว่า ต่างเห็นดีเห็นชอบให้แยกออกไปตั้งเมืองใหม่ ท้าวจันทร์เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงเห็นชอบ ให้ท้าวกวดแยกออกไปตั้งเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งท้าวมหาชัยหรือกวดนี้เอง เป็นต้นตระกูล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม  ภายหลังจากการเห็นดีเห็นชอบ  ท้าวมหาชัย (กวด) นำพลเมืองออกจากเมืองร้อยเอ็ดราว 2,000 คน มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 1,000 เส้น จึงหยุดตั้งอยู่บริเวณที่ดอน แต่ราษฎรนิยมเรียกว่า “วัดข้าวฮ้าว” (ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็นวัดธัญญา) ได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และศาลมเหศักดิ์ขึ้นเป็นที่สักการะของชาวเมือง อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เห็นว่าขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงย้ายมาตั้งระหว่างกุดยางใหญ่กับหนองท่ม ซึ่งเป็นที่ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่บ้างแล้ว คือ บ้านจาน หรือบ้านจานเก่า (ด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรีในปัจจุบัน) ประกอบกับห่างออกไปเล็กน้อยก็เป็นห้วยตะคาง จึงนับว่าเป็นชัยภูมิที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์

          ปีพุทธศักราช 2408  พระขัติยวงศา (จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ขอตั้ง “บ้านลาดกุดยางใหญ่” เป็นเมือง- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ เป็น “เมืองมหาสารคาม” ขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด ให้ท้าว มหาชัย (กวด) บุตรอุปฮาด (สิงห์) เป็น “พระเจริญราชเดช” เจ้าเมืองมหาสารคาม และแต่งตั้ง ท้าวบัวทอง เป็นผู้ช่วย

          ปีพุทธศักราช 2451 ได้มีการจัดตั้งสถานีตำรวจขึ้นเป็น สภ. ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งตัวสถานีปลูกเป็นเรือนไม้เล็กๆชั้นเดียวอย่างกับบ้านเรือนของชาวบ้านธรรมดา หลังคามุงด้วยแฝก เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อบ้านจานเก่า ตั้งอยู่ที่ริมหนองทุ่ม หรือหนองกระทุ่ม (ด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรีในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ในตำบลตลาด มีชื่อเรียกว่า สภ.ตลาด โดยแต่งตั้งให้ ส.ต.อ.สุข นามสกุลไม่ปรากฏ เป็นหัวหน้า สภ. มีกำลังนายสิบพลตำรวจ 12 นาย

          ปีพุทธศักราช 2454 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกของ สภ. เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงชื่อของอำเภอเป็นอำเภอเมืองมหาสารคาม โดยเปลี่ยนชื่อจาก สภ.ตลาด เป็น สภ อ.เมืองมหาสารคาม และแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.แหวน เพ็ซรจันทร์ (ขุนกำจัดทุรชน) เป็นผู้บังคับกอง ร.ต.ต.รวม สครมาน เป็นผู้บังคับหมวด  ขึ้นอยู่กับกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลที่ 10 (ร้อยเอ็ด) ในปีพุทธศักราชเดียวกันนี้

          ปีพุทธศักราช 2465 ร.ต.อ.ขุนกำจัดทุรชน ผบ.กอง พ.ต.ต.พระเทเพนทร์รักษาเป็น ผบ.ก. พล.ท พระองค์เจ้าคำรพเป็นอธิบดีเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดี ทางการได้โอนเงินงบประมาณค่าปลูกสร้าง สภ.อ. เมืองมหาสารคาม ที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ใช้งบประมาณ 9,600 บาท โดย พ.ต.ต.พระเทเพนทร์รักษา ผู้บังคับการมณฑลที่10 (ร้อยเอ็ด)ได้เหมาก่อสร้างทำการปลูกสร้าง สภ.อ.เมืองมหาสารคาม ในสมัยนั้น เป็นเรือนไม้แบบถาวร เสาก่ออิฐเสริมปูน พื้นฝาเพดาน กระดานฝา หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ 11ห้อง กว้าง 10เมตร ยาว 15เมตร สร้างเสร็จเมื่อหลายปี พุทธศักราช 2466

          ปีพุทธศักราช 2467 ร.ต.อ.ขุนกำจัดทุรชน ผบ.กองฯ และ ร.ต.ท.รวม สารมาน ผบ.หมวด ถูกแต่งตั้งไปรับราชการที่อื่น ร.ต.อ.ขุนกำจัดพาล มาเป็น ผบ.กองฯ แทน ร.ต.ต.บั้ง ศิริโคจรานนท์ มาเป็น ผบ.หมวด 1 ในระหว่าง ผบ.กอง1 และ ผบ.หมวดฯ มาดำรงตำแหน่งนี้ได้ทำการปลูกสร้างสถานที่ราชการและบ้านพักรวม 3 หลัง โดยมิได้ใช้เงินงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด  คือ บ้านพัก ผบ.กอง 1 หลัง ซึ่งเป็นบ้านพัก ผบก.ฯ ปัจจุบันนี้ แต่การปลูกสร้างได้สร้างขึ้นเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นฝา เพดานใช้ไม้กระดานหลังคามุงสังกะสี และ บ้านพัก ผบ. หมวดฯ 2 หลัง ปลูกสร้างด้วยเรือนไม้ชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง พื้นกระดาน ฝาไม้ไผ่สานขัดแตะ หลังคามุงสังกะสี และสร้างเป็นโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งอยู่ติดหับห้องแถวข้างบ้านพักของข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองในปัจจุบัน